วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นับเลข

สื่อการสอนวิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย

สื่อการสอนวิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย
             ในชั้นปฐมวัยไม่ได้สอนเป็นรายวิชา เป็นการเตรียมความพร้อมโดยนำเอาวิชาต่าง ๆ มาบูรณาการเป็นหน่วย และสอดแทรกวิธีสอนแบบเรียนปนเล่นด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้นสื่อการสอนหากจัดโดยยึดตามรายวิชาแล้ว สื่อการสอนวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อที่พบหาได้จากธรรมชาติ หรือครูสามารถประดิษฐ์ขึ้นมาได้เอง ตัวอย่างเช่น
             1. ของจริง
ของจริง ได้แก่ วัตถุ (คน พืช สัตว์ สิ่งของ สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ) สถานการณ์จริง
ปรากฏการณ์ จริง เป็นสื่อการสอนที่ใช้มากที่สุดในระดับปฐมวัย เนื่องจากเป็นสื่อที่เด็กได้รับประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรม และเป็นประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากการสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้านของตนเอง ในสภาพการณ์จริง สื่อชนิดนี้เด็กจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด เพราะเด็กต้องการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อม ต้องการที่จะสัมผัสแตะต้อง ได้เห็น ได้ยิน ได้ชิม หรือได้ดมด้วยตนเอง
ตัวอย่าง สื่อของจริง เช่น ดอกไม้จริง ดินชนิดต่าง ๆ ก้อนหิน ต้นไม้ ฯลฯ
             2. ของจำลอง และสถานการณ์จำลอง
เป็นสื่อที่ใกล้เคียงของจริงหรือสถานการณ์จริงมากที่สุด ในบางครั้งประสบการณ์ตรง
นั้น ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ หรืออาจเป็นอันตราย หรือของจริงอาจมีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป มีความซับซ้อน อยู่ไกลเกินกว่าที่จะนำมาศึกษาได้ จึงต้องจำลองหรือเลียนแบบให้มีลักษณะที่ใกล้เคียงหรือเหมือนจริงที่สุด เพื่อความสะดวก ปลอดภัย และเข้าใจได้ง่าย
ตัวอย่าง สื่อของจำลอง เช่น ผลไม้จำลอง หุ่นจำลองต่าง ๆ
             3. ภาพ บัตรภาพ ภาพชุด และแผนภูมิ
ภาพ บัตรภาพ หรือภาพชุด แผนภูมิที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ นำมาใช้
ประกอบ การสอนของครูในการให้แนวคิดต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อครูสอนแนวคิดอะไรก็นำภาพ บัตรภาพ ภาพชุด หรือแผนภูมินั้นให้เด็กดู เด็กจะเกิดความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ได้
ตัวอย่าง สื่อภาพ บัตรภาพ ภาพชุด และแผนภูมิ เช่น ภาพรุ้งกินน้ำ บัตรภาพแมลง
ภาพชุดดอกไม้ แผนภูมิส่วนประกอบของต้นไม้ ฯลฯ

             4. หนังสือภาพ และหนังสือส่งเสริมการอ่าน
หนังสือภาพและหนังสือส่งเสริมการอ่านที่มีเรื่องและภาพ เป็นสื่อสำหรับให้เด็ก
เรียนรู้ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่จัดหาได้ง่าย การใช้หนังสือภาพอาจทำได้ดังนี้
- จัดมุมหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยสามารถหยิบและเปิดขึ้นดูเอง ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เห็นในภาพ และโยงกับสิ่งที่ตนเห็นในชีวิตประจำวัน หนังสือภาพที่จะให้ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ หนังสือภาพสัตว์เลี้ยง แม้เด็กปฐมวัยส่วนมากจะยังอ่านหนังสือไม่ได้ แต่ดการดูภาพก็จะช่วยให้ความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์แก่เด็กได้เป็น อย่างดี
- ใช้ประกอบการสอนของครู เป็นการใช้หนังสือภาพประกอบการเล่าเรื่องนิทาน หรือการใช้แนวคิดทางธรรมชาติวิทยาแก่เด็กปฐมวัย หนังสือภาพที่ใช้อาจเป็นชุดเดียวที่จัดไว้ในมุมหนังสือ ครูจะช่วยอ่านบทสนทนาของตัวละครหรือคำบรรยายให้นักเรียนฟังเป็นการเพิ่ม ประสบการณ์แก่เด็กอีกทางหนึ่งด้วย
- ใช้ประกอบการแสดงออกของเด็กปฐมวัย ในกรณีที่เป็นเด็กปฐมวัยอายุ 4-5 ขวบ ครูอาจให้นักเรียนเล่าเรื่องจากหนังสือภาพให้เพื่อนนักเรียนฟังเป็นการ กระตุ้นความสามารถในการแสดงออก และฝึกให้เด็กรู้จักสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวเพื่อที่จะนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง ประกอบหนังสือภาพอีกด้วย
ตัวอย่างสื่อหนังสือภาพ และหนังสือส่งเสริมการอ่าน เช่น หนังสือภาพสัตว์เลี้ยง หนังสือนิทาน ฯลฯ
             5. โสตทัศนุปกรณ์
อุปกรณ์เหล่านี้ใช้ได้เฉพาะโรงเรียน ที่มีความพร้อมในด้านงบประมาณที่จะสามารถจัดหาเครื่องฉาย เครื่องเสียง วีดิทัศน์ ฯลฯ ได้ สำหรับโรงเรียนที่ยังไม่มีความพร้อมด้านนี้ ก็อาจใช้สื่ออื่นทดแทนได้ อุปกรณ์เหล่านี้จะให้ประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์แก่เด็กปฐมวัยในลักษณะต่าง ๆ อาทิ
- เครื่องเสียง ช่วยให้นักเรียนได้ยินเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงลมพัด เสียงน้ำตก เสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เสียงคนและสัตว์ เป็นต้น
- เครื่องฉายสไลด์ช่วยให้นักเรียนเห็นภาพธรรมชาติต่าง ๆ ได้พร้อมกัน
- เครื่องฉายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ช่วยให้นักเรียนได้เห็นภาพการเคลื่อนไหว และได้ยินเสียงปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ
             6. การสาธิตและการทดลองง่าย ๆ
การสาธิต และการทดลอง เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กปฐมวัยได้รู้จักสังเกต และคิดอย่างมีเหตุผล รู้จักปฏิบัติงานอย่างมีขั้นตอน และแสวงหาความรู้และเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูสาธิตสิ่งที่ต้องการให้เด็กเห็นขั้นตอนการปฏิบัติ ให้เด็กได้สังเกต ซักถาม และสรุป พร้อมกับให้เด็กมีโอกาสทดลองสิ่งที่ครูสาธิตหรือเรื่องที่เป็นพื้นฐานทาง วิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง
ตัวอย่าง สื่อการสาธิตและการทดลองง่าย ๆ เช่น
- การเล่นบ่อทราย เด็กจะได้เรียนรู้จากการสัมผัสความนุ่มนวล ความสาก ฯลฯ ของทราย เรียนรู้ว่า เมื่อเป่าทรายจะกระจาย เมื่อเอาน้ำเทลงไปทรายจะจับตัวเป็นก้อน เรียนรู้ส่วนผสมของทราย รวมทั้งสังเกตชีวิตสัตว์เล็ก ๆ ที่อาจมองเห็นในทราย
- การเล่นน้ำ เด็กจะเรียนรู้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างจากการเล่นน้ำ ดังนั้นจึงต้องจัดอ่างน้ำและภาชนะให้เด็กได้มีโอกาสเล่นตัก ตวง เอามือแกว่งไกว วิดน้ำ หรือสังเกตสิ่งที่อยู่ในน้ำ เป็นต้น
- กรงแมลง การดักจับแมลงเป็นสิ่งที่เด็กชอบมาก ครูอาจสอนวิธีจับแมลงโดยการจับมาเพื่อการศึกษา สังเกต มิใช่การทำลายชีวิต แมลงที่เด็ก ๆ สนใจ เช่น แมลงเต่าทอง ผีเสื้อ ตั๊กแตน การจับควรจับด้วยสวิงดักแมลง เมื่อดักได้ให้ค่อย ๆ เก็บใส่กรงสำหรับแมลง ซึ่งหมายถึงบ้าน
ชั่วคราวของแมลง เมื่อสังเกตและศึกษาในระยะเวลาหนึ่งแล้วให้ปล่อยแมลงเหล่านั้นไป
กรง แมลงอาจทำจากกระป๋องพลาสติกที่ตัดหัวท้ายให้ยาวขนาด 2 นิ้ว แล้วหุ้มท้ายด้วยผ้าโปร่งบางมัดด้วยเชือกพลาสติก ส่วนด้านบนให้มีผ้าที่ปิดเปิดได้ อาจใส่ใบไม้หรือพืชต้นเล็ก ๆ ไว้ในขวด เพื่อให้แมลงรู้สึกว่าเหมือนอยู่ในธรรมชาติ
มดเป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่ เด็ก ๆ สนใจอยากรู้ ลองนำขวดปากกว้างมาตักทรายหรือดินที่มีรังมดอยู่ใส่ลงไปแล้วหุ้มรอบ ๆ ขวดด้วยผ้าหรือกระดาษสีดำ ใส่น้ำหวาน หรือเศษอาหารลงไปในขวด ปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 วัน ถอดผ้าที่หุ้มออก จะเห็นมดในขวดกำลังสร้างอาณาจักรอยู่ภายในนั้น เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของมด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับเด็ก
- กรงสัตว์ กรงสัตว์สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยใช้ลังหรือกล่องบรรจุผลไม้นำมาหุ้มด้านบนด้วยลวด ส่วนด้านล่างรองด้วยถาดสังกะสี ลังนี้ทำเป็นบ้านกระต่ายหรือสัตว์เล็ก ๆ อื่น เช่น กระแต กระรอก หนู ลูกไก่ ฯลฯ อาจใส่ทรายชื้น ๆ และต้นไม้นุ่ม ๆ สำหรับเป็นกรงเลี้ยงกบหรือคางคกหรือกิ้งก่า ถ้าเป็นสัตว์บางอย่าง เช่น เต่า อาจจะต้องใส่ก้อนหินและน้ำ กรงสัตว์นี้เป็นบ้านชั่วคราวของสัตว์เพื่อให้เด็กได้สังเกต มิใช่เป็นกรงสำหรับขังสัตว์ เมื่อศึกษาแล้วให้ปล่อยสัตว์ไปอยู่ตามธรรมชาติต่อไป
- ตาชั่ง สำหรับเด็ก ๆ แล้วตาชั่วที่ใช้เป็นเพียงตาชั่งสำหรับวัดความสมดุล คือ ตาชั่งสองแขน ซึ่งทำได้ง่าย ๆ โดยใช้แกนไม้ตั้งบนฐานแท่นไม้ ใช้ที่แขวนเสื้อชนิดทำด้วยไม้แขวนติดกับหมุดเล็ก ๆ ที่ปลายของไม้แขวนเสื้อห้อยด้วยกล่องนม เด็กจะใช้ชั่วของเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อดูความสมดุลหรือดูว่าอะไรหนักกว่าอะไร
- กระถางต้นไม้ เด็ก ๆ ชอบสะสมเมล็ดชนิดต่าง ๆ นอกจากการเก็บเมล็ดผลไม้ใส่กล่องไว้ให้เด็กได้สังเกตเรื่องของขนาด รูปร่าง และสีแล้ว เมล็ดเหล่านี้อาจจะนำมาทดลองเพาะ การเพาะลงในกระถางจะทำให้เด็กได้มีโอกาสสังเกตการเจริญของเมล็ดได้อย่างใกล้ ชิด กระถางพืชนี้อาจจะเป็นกระถางดินหรือดัดแปลงมาจากวัสดุเหลือใช้ เช่น กระป๋องต่าง ๆ แก้ว เหยือก ภาชนะพลาสติกต่าง ๆ ถ้าเป็นที่เพาะเมล็ดพืชขนาดใหญ่อาจใช้ลังไม้รองด้วยอลูมิเนียม เพื่อเวลารดน้ำจะได้ไม่เปียกออกมาด้านนอก
- กรงนก นอกจากจะมีการนำแมลงหรือสัตว์เล็ก ๆ ชนิดต่าง ๆ มาให้เด็กได้ศึกษาในห้องเรียนแล้ว ครูสามารถที่จะนำนักเรียนออกไปศึกษาสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เช่น ชีวิตนก ฉะนั้น อาจมีการทำกรงนกหรือบ้านนกชนิดต่าง ๆ ไว้ในบริเวณรอบนอกอาคาร ตามต้นไม้หรือชายคา บ้านนกอาจจะทำด้วยไม้ ทำด้วยกาบมะพร้าวทั้งลูกมัดด้วยลวดหรือรังนกกระจาบ มีอาหารนกไว้ให้สำหรับเด็กได้ใช้เลี้ยงนก
- กล่องวิทยาศาสตร์ ควรสะสมกล่องเปล่าสำหรับใส่ชุดวิทยาศาสตร์ อาจจะเป็นกล่องขนมปังที่เป็นโลหะหรือกล่องพลาสติก แต่ละกล่องจะบรรจุวัสดุสำหรับการทดลองแต่ละอย่าง เช่น กล่องที่จะทดลองเรื่องลอย-จม ในกล่องจะมีวัสดุสำหรับการทดลองในเรื่องดังกล่าว เช่น ลูกโป่ง ลูกแก้ว เศษไม้ ฟองน้ำ เม็ดโฟม หน้ากล่องเขียนชื่อติดไว้ เวลานำมาใช้จะได้สะดวกในการค้นหา นอกจากนี้ กล่องที่บรรจุวัสดุอุปกรณ์สำหรับสอนความคิดรวบยอดแต่ละเรื่องแล้ว อาจจะเป็นกล่องที่บรรจุเครื่องมือที่ใช้บ่อย ๆ เช่น แว่นขยาย แม่เหล็ก กระจกเงา ลวด เปลือกหอย เข็มทิศ นาฬิกา ฯลฯ
- การปรุงอาหาร กิจกรรมการปรุงอาหาร เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์กายภาพ เพราะเด็กจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสสารได้ง่าย เช่น การละลาย การทำให้อ่อนตัว การเปลี่ยนรูปทรงและสีอาหาร ไม่จำเป็นจะต้องปรุงให้สุกเพียงการผสมเครื่องปรุงก็เป็นประสบการณ์การเรียน รู้อย่างหนึ่ง

             7. นิทาน
การเล่านิทานเป็นการเล่าเรื่องต่าง ๆ โดยการใช้หนังสือภาพ หนังสือนิทาน หุ่นต่าง ๆ
หรือ แสดงท่าทางประกอบการเล่าเรื่อง โดยครูเลือกนิทานที่เหมาะสมกับวัย ความสนใจ และความต้องการของเด็ก เล่าให้เด็กฟังโดยอ่านจากหนังสือ หรือใช้อุปกรณ์ประกอบ พร้อมกับให้เด็กได้สนทนา อภิปราย และแสดงความคิดเห็นจากนิทาน
ตัวอย่าง สื่อนิทาน เช่น นิทานเรื่อง “ประโยชน์ของผัก”
“มีเด็กนักเรียนห้องหนึ่งกินผักกันทั้งห้อง ทุกคนแข็งแรงมาก และก็มีเด็กนักเรียนอีก
ห้อง หนึ่งไม่กินผักเลย ทุกคนอ่อนแอมาก วันหนึ่งนักเรียนต้องแข่งขันเดินเร็วกัน นักเรียนห้องที่กินผักเดินชนะ เพราะแข็งแรง เดินไม่เหนื่อย ส่วนนักเรียนห้องที่ไม่กินผักเดินไปได้หน่อยก็เป็นลมล้มลงจึงแพ้”

             8. เพลง
การร้องเพลง เป็นการจัดให้เด็กได้แสดงออกเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และ
เรียน รู้เกี่ยวกับภาษาและจังหวะ โดยให้เด็กฟังและร้องเพลงไปพร้อม ๆ กับครู เพลงที่นำมาให้เด็กร้อง ควรเลือกเนื้อเพลงง่าย ๆ และสั้น และควรให้เด็กได้เคลื่อนไหวท่าทางประกอบการร้องเพลง เปิดโอกาสให้เด็กแสดงท่าทางประกอบอย่างอิสระตามจินตนาการ
ตัวอย่าง สื่อเพลง เช่น เพลงรุ้งกินน้ำ
“รุ้งเลื่อมลายงามงดงาม สีม่วงครามอีกงามน้ำเงิน
เขียวเหลืองเพลินดูน่าชม ช่างงามสมสีส้มแดง”
             9. เกม
การเล่นเกม เป็นการให้เด็กได้รับความเพลิดเพลิน สนุกสนาน เด็กได้เคลื่อนไหว
ร่าง กายส่วนต่าง ๆ เล่นและอยู่ร่วมกับเด็กอื่นได้ โดยเล่นเกมที่มีกติกาง่าย ๆ หรือเกมการละเล่นพื้นเมืองที่เหมาะกับวัย ก่อนเล่นครูต้องอธิบายกติกาและสาธิตให้เข้าใจ
ตัวอย่าง สื่อเกม เช่น เกมแมวจับหนู
วิธีเล่น - ให้เด็กนั่งเป็นวงกลม จับมือกัน
- ให้เด็กออกมา 2 คน คนหนึ่งสมมติเป็นแมว อีกคนหนึ่งสมมติเป็นหนู
- สมมติให้คนที่นั่งเป็นถ้วยที่เก็บน้ำมันหมู
- ให้เด็กคนที่เป็นแมวไปหาน้ำมันหมู
- ให้เด็กคนที่เป็นหนูไปกินน้ำมันหมู
- เด็กคนที่เป็นแมวถามเด็กคนที่นั่งเป็นวงกลมว่าน้ำมันหมูหายไปไหน
- เด็กคนที่นั่งทั้งหมดตอบว่าหนูกินหมด
- เด็กคนที่เป็นแมวถามว่า หนูหายไปไหน
- เด็กคนที่นั่งทั้งหมดชี้ไปที่ตัวหนู
- เด็กคนที่เป็นแมววิ่งไล่ตามหนู ถ้าวิ่งจับหนูได้ถือว่าจบเกม และผลัด
เปลี่ยนคนใหม่ต่อไป

             10. คำคล้องจอง
การท่องคำคล้องจอง เป็นการส่งเสริมการใช้ภาษาในการฟัง พูด เด็กได้รับคาม
เพลิด เพลิน สนุกสนาน โดยให้เด็กฟังและท่องคำคล้องจองไปพร้อม ๆ กับครู คำคล้องจองที่นำมาให้เด็กท่องจำควรเลือกคำคล้องจองที่ง่าย ๆ และสั้น ควรให้เด็กได้เคลื่อนไหวท่าทางประกอบการท่องคำคล้องจอง เปิดโอกาสให้เด็กแสดงท่าทางประกอบอย่างอิสระตามจินตนาการ
ตัวอย่าง สื่อคำคล้องจอง เช่น คำคล้องจอง “ประโยชน์ของดิน หิน ทราย”
“ดิน หิน ทราย ใช้ในการก่อสร้าง เป็นห้างร้านบ้านเรือนที่อาศัย
ทำถนนโรงเรียนวัดทั่วไทย ทำของใช้ปลูกต้นไม้ได้ดีเอย”
             นอกจากวัสดุดังกล่าวข้างต้น ยังมีวัสดุอื่น ๆ ที่สามารถจัดหาเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากนี้ได้ แล้วแต่ความสามารถของโรงเรียน เช่น กล้องจุลทรรศน์ หนังสือสารานุกรมวิทยาศาสตร์ ลูกโลกและตัวอย่างหินแร่ต่าง ๆ และครูวิทยาศาสตร์ควรสำรวจและบันทึกรายการเหล่านี้ไว้ด้วย คือ แหล่งทรัพยากรในท้องถิ่น ทั้งทรัพยากรบุคคลและสถานที่ที่จะนำมาให้เด็กได้เรียนรู้ ทรัพยากรบุคคล อาทิเช่น เจ้าหน้าที่เกษตร, อนามัย, บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่วนอุทยาน เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ เจ้าหน้าที่จากสมาคมสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์ นักกีฏวิทยา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เกษตรกร เจ้าของฟาร์มสัตว์ต่าง ๆ ส่วนสถานที่ที่น่าสนใจ อาทิเช่น สวนสัตว์ วนอุทยาน พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ นอกจากนี้อาจจะมีการร่วมมือกับโรงเรียนมัธยม หรืออุดมศึกษาในท้องถิ่น ที่จะขอนักเรียนระดับโตมาควบคุมและทำงานด้านวิทยาศาสตร์กับเด็กทั้งในและนอก ห้องเรียน

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ของเด็กปฐมวัย



ขอบเขตของความรู้ในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและแผ่ขยายออกปอย่างรวดเร็ว การแข่งขันเชิงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นอนาคต โดยเฉพาะศักยภาพในการคิดและสร้างสรรค์สิ่งที่แปลกใหม่ให้เกิดขึ้น ความท้าทายที่จะกระตุ้นให้มนุษย์ได้เกิดความกระหายใคร่รู้ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นกระบวนการคิดที่เกี่ยวข้องกับการคิดสิ่งใหม่ๆ ซึ่งขัดแย้งกับความคิดเดิมๆ โดยดึงเอาประสบการณ์เก่าๆ ออกมาทั้งหมด และเลือกที่จะสร้างแบบแผนใหม่ๆ ออกมาให้ปรากฏ ซึ่งการจัดแบบแผนของการคิดใหม่นี้เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ความคิดคล่องตัว (Fluency) เป็นความสามารถที่ผลิตความคิดที่นุ่มนวลและรวดเร็วในการแก้ปัญหา และความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) เป็นความสามารถในการค้นพบลักษณะที่มีความหลากหลาย สมองมนุษย์ สามารถคิดเชื่อมโยงประสานสัมพันธ์กันระหว่างความรู้และประสบการณ์ ทำให้เกิดการต่อยอดความรู้เดิมและการต่อเติมจินตนาการออกไป

การพัฒนาและการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ จึงจำเป็นที่ต้องบ่มเพาะตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลของชาติในอนาคต ความคิดสร้างสรรค์เป็นสมรรถภาพทางด้านสมองที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน เป็นพลังทางความคิดและพลังที่แสดงออกแล้วมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ผลผลิตของความคิดสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาและแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม



ความคิดสร้างสรรค์เป็นพฤติกรรมที่มีคุณค่าและมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มักจะเป็นผู้ที่มีบทบาทที่จะนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติ บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทที่สำคัญ และเป็นที่ต้องการของสังคมปัจจุบันอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ขบคิด และแก้ปัญหาและพร้อมที่จะกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และสังคมโดยส่วนรวม
คุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ สามารถสรุปได้เป็น 2 มิติ คือ มิติทางสังคม และมิติทางปัจเจกชน ซึ่งมิติทางสังคมนั้นเป็นสิ่งที่บุคคลได้คิดสร้างสิ่งหนึ่งเพื่อประโยชน์สุขและความก้าวหน้าของสังคม หรือหาวิธีแก้ไขปัญหาจนประสบความสำเร็จ มีประโยชน์ต่อสังคม ส่วนมิติทางปัจเจกชนเป็นความสามารถในการสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าต่อผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ภาคภูมิใจและมั่นใจในความสามารถของตนเอง จะส่งผลไปถึงแบบแผนบุคลิกภาพและความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสังคม

ความคิดสร้างสรรค์สามารถช่วยในการคิดแก้ปัญหา สร้างความสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งแสดงออกโดยการศึกษา ค้นคว้า ค้นหา ทดลอง และยังก่อให้เกิดจินตนาการ ความผิดแผกและท้าทายให้เกิดการสร้างมุมมองใหม่ๆ จึงเป็นทางเลือกที่สังคมต้องการ นั่นหมายความว่า ความคิดสร้างสรรค์จะต้องเกิดการสร้างสิ่งแปลกใหม่ นำไปประยุกต์ใช้ได้และมีความเหมาะสมสอดคล้องตามสภาวการณ์

ผืที่มีความคิดสร้างสรรค์จึงกลายเป็นบุคคลที่สำคัญและสังคมต้องการ การจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยจึงเป็นช่วงแห่งการสร้างรากฐานของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมกระบวนการคิดให้มีความฉับไว สามารถที่จะรับรู้ปัญหา เห็นปัญหา สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ๆ ได้ง่าย สร้างหรือแสดงความคิดเห็นใหม่ๆ และปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งเปรียบได้กับ การนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเรียนรู้สามารถค้นพบปัญหา วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งสมมติฐานของปัญหา ทอสอบสมมติฐาน และค้นพบคำตอบ ค้นพบสิ่งใหม่ และนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ



การเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัยเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยมีแบบแผนที่แตกต่างกันออกไปจากพัฒนาการด้านอื่นๆ Torrance ได้สรุปพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์เด็กทารก ก่อนวัยเรียน (อายุ 0-6 ปี) ว่าเด็กมีความสามารถพัฒนาจินตนาการได้ตั้งแต่ขวบปีแรก ด้วยการเรียนรู้จากสิ่งเร้ารอบตัว เช่น เสียง จังหวะ เมื่ออายุ 2 ขวบ ความกระตือรือร้นที่จะใช้ประสาทสัมผัสเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ ช่วงอายุ 2-4 ปี เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากประสบการณ์ตรง และประสาทสัมผัสที่พร้อมสำหรับสิ่งแปลกใหม่ตามธรรมชาติ เริ่มมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง มักทำในสิ่งที่เกินความสามารถของตนเอง ชอบจินตนาการ จวบจนอายุช่วง 4-6 ปี เด็กเริ่มสนุกสนานกับการวางแผน การเล่นและสามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ แม้จะไม่เข้าใจในเหตุผลมากนัก เด็กชอบทดลองเล่นบทบาทสมมติต่างๆ โดยใช้จินตนาการของเด็กเอง

ความคิดสร้างสรรค์เป็นลักษณะของความคิดส่วนบุคคลที่สามารถคิดได้อย่างหลากหลายและคิดได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่กำหนดขึ้น ลักษณะของบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์เราสามรถสังเกตได้จากพฤติกรรมการแสดงออก สามารถสรุปได้ดังนี้
  1. มีความกระหายใคร่รู้อยู่เป็นนิจ กระตุ้นความคิดด้วยความอยากรู้อยากเห็น
  2. ชอบสืบเสาะแสวงหา สำรวจ ศึกษา ค้นคว้าและทดลอง
  3. ชอบซักถาม พูดคุยและตั้งคำถามที่แปลกๆ
  4. ช่างสงสัยและแปลกประหลาดใจในสิ่งที่พบเห็นอยู่เสมอ
  5. ช่างสังเกต จดจำ และค้นพบสิ่งที่ขาดหายไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
  6. ชอบแสดงออกมากกว่าเก็บกด ถ้าเกิดข้อสงสัยจะต้องรีบหาคำตอบโดยไม่ต้อรีรอ
  7. มีอารมณ์ขันเสมอ สร้างความสุขในโลกส่วนตัวด้วยมุมมองที่แปลก
  8. มีสมาธิในสิ่งที่ตนสนใจ
  9. พึงพอใจและสนุกสนานกับการใช้ความคิด
  10. สนใจสิ่งต่างๆ อย่างกว้างขวาง
  11. มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เปิดกว้างทางความคิดเพื่อพิจารณา
  12. มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความเชื่อมั่นทางความคิดและการกระทำ
  13. มีความสามารถทางด้านการจินตนาการชอบคิดหาวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้แก้ปัญหา
เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์จะมีการแสดงออกทางพฤติกรรม ซึ่งเราสามารถสังเกตและส่งเสริมให้เด็กได้มีพัฒนาการทางความคิดให้เป็นบุคคลที่สร้างสรรค์สังคมและตนเองได้เป็นอย่างดี การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์จะเป็นที่จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนโดยเน้นกระบวนการ เทคนิควิธีเป็นสำคัญ มากกว่าการเรียนรู้ที่ตัวเนื้อหาสาระ เมื่อความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งดีที่แฝงเร้นภายในตัวตนของบุคคล การส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่เยาว์วัยจึงสามารถที่จะกระทำได้ โดยอาศัยเทคนิควิธีการต่างๆ อย่างหลากหลาย



กิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์นั้นต้องมีความต่อเนื่อง มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนมีความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ของเด็กตามระดับ และความสามารถในการแสดงออก เด็กควรได้รับการส่งเสริมให้แสดงออกได้อย่างอิสระเท่าที่โอกาสและสิ่งแวดล้อมจะอำนวย การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยต้องมาจากประสบการณ์การเล่น การได้สัมผัสต่างๆ ด้วยตัวเด็กเอง เป็นสื่อการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็ก ซึ่งการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยที่การเรียนรู้ของเด็กได้มาจากการเล่นเป็นสำคัญ การสร้างสถานการณ์และจัดหาสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้

การส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สามารถทำด้วยวิธีการต่างๆ หลายวิธีด้วยกัน อาทิการระดมพลังสมอง การคิดให้ได้ปริมาณมากและมีคุณภาพในช่วงเวลาที่จำกัด การฝึกจินตนาการหรือการคิดฝัน คิดในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น การฝึกแก้ปัญหาสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและอิสระ ช่วงแรกของชีวิตจนถึง 5 ขวบ เป็นช่วงที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์และจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเป็นผู้ใหญ่

การส่งเสริมและพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ การส่งเสริมอิสรภาพในการทำงาน การหัดให้เด็กได้รู้จักชื่นชม และมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งต่างๆ ที่ควรได้รับการพัฒนา การจัดกิจกรรมให้เด็กได้กระทำตามที่เด็กพึงพอใจ การพักผ่อนเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ การสร้างวินัยในการทำงานที่ดี การให้โอกาสเด็กเพื่อค้นพบการสำรวจ ตรวจสอบ ค้นคว้าและทดลองเพื่อค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง และคำนึงถึงความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน
การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์นั้นต้องให้เด็กฝึกคิดแลกไปจากคนอื่น ฝึกหัดให้เป็นคนช่างสังเกต ฝึกตนองให้มีความคุ้นเคยกับสิ่งที่แปลกอยู่เป็นประจำ ให้อิสรภาพและเวลาในการคิด คิดเชิงสมมติอยู่เสมอกระตุ้นให้เกิดการคิดอย่างคลุมเครือ ไม่ยึดติดกับความถูกต้องและความผิดพลาด แนวทางในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็กนั้น ได้แก่
  1. สอนให้เด็กได้รู้จักคิด คิดเป็น คิดหลายๆ แง่ และสามารถคิดแก้ปัญหาได้สำเร็จ
  2. กระตุ้นให้เด็กกล้าแสดงความรู้สึกนึกคิดออกมาในวิถีที่สร้างสรรค์
  3. ส่งเสริมให้เด็กได้รู้จักใช้จินตนาการและความสามารถของตนเอง
  4. เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
  5. ส่งเสริมให้เด็กรู้จักการถาม และสนใจต่อคำถามของเด็ก
  6. นำวิธีการสอนที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง
  7. สนับสนุนให้เด็กแสดงออกทางความคิดในเชิงสร้างสรรค์
  8. สร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างอิสระ
  9. จัดสภาพห้องเรียนให้ดูแปลกใหม่อยู่เสมอ
  10. ไม่ควรกำหนดรูปแบบความคิดและบุคลิกภาพของเด็กมากเกินไป
เมื่อเด็กเล่นจะแสดงพฤติกรรมอันเป็นความสามารถส่วนรวมในระดับที่มีอยู่ในตัวออกมา การคิดอย่างหลากหลายทิศทาง คิดริเริ่ม และคิดแก้ปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้นจากกิจกรรมการเล่นอย่างอิสระผ่านของเล่นเป็นเครื่องมือที่เด็กใช้ในการเล่น ซึ่งการเลือกของเล่นต้องใช้อายุเป็นเกณฑ์ ไม่จำเป็นต้องอุปกรณ์สำเร็จรูปเพียงแต่อุปกรณ์ของเล่นต้องเป็นอุปกรณ์ที่เปิดโอกาสให้เกิดการค้นพบตัวเองได้คิด ค้นหา พัฒนาและคิดสร้างสรรค์ เช่น แท่งไม้ เศษผ้า ซึ่งเด็กสามารถนำไปคิดเป็นของเล่นได้หลายทิศทาง ภายหลังการเลือกของเล่นที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์แล้ว ผู้ปกครองต้องพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ มีใจกว้างที่จะยอมรับความคิดเห็นการกระทำและผลงานของเด็ก ส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจแก่เด็กผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์

เด็กปฐมวัยพัฒนาสติปัญญาของตนเพื่อการเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัวจากการสังเกต การเล่น และการซุกถามสิ่งที่เด็กอยากรู้อยากเห็น พฤติกรรมทางการจำแนก การมองเห็น ความสัมพันธ์ และการเรียงลำดับ โดยเด็กจะพยายามเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัว การเรียนรู้สิ่งต่างๆ ของเด็กวัยนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ตรงที่ได้รับการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม เด็กต้องเกิดความภูมิใจ และพอใจที่จะทำพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งนั้นๆ



การจัดหาและเลือกสื่อเพื่อพัฒนาสติปัญญาและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย ควรคำนึงถึงลักษณะของสื่อดังนี้
  1. ความเหมาะสมของสื่อตามวัยของเด็ก วัยปฐมวัยนั้นควรเป็นสื่อที่ช่วยเร้าความสนใจของเด็กให้มีความอยากรู้อยากเห็น
  2. คุณภาพในแง่ความปลอดภัย ความคงทน และการออกแบบ สื่อที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัย จะต้องทำด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อเด็ก สีต้องไม่สะสมปนตะกั่ว ขนาดมุมไม่แหลมคม
  3. ประโยชน์ใช้สอย สื่อที่มีคุณภาพ ควรคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ได้หลายๆ อย่าง หรือนำมาดัดแปลงใช้ได้หลายโอกาส เล่นได้หลายคน และหลายวัตถุประสงค์
  4. ประหยัด สะดวกในการจัดหาให้มีความหลากหลายและจำนวนที่เพียงพอ สื่อที่จะให้ประสบการณ์ตรงกับเด็กนั้นควรจะหาซื้อง่าย หรืออาจทำขึ้นมาได้เอง
การจัดประสบการณ์เพื่อการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย ด้วยสื่อของเล่นจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกถึงความรู้สึกของตน การขีดเขียนด้วยเครื่องมือต่างๆ การสร้างด้วยวัสดุต่างๆ ให้เด็กมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์ด้วย ดังนั้น เราจึงต้องรู้จักจัดหาและเลือกสื่อที่มีประโยชน์มีประสิทธิภาพและประหยัดมาจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กด้วย



การจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อกระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ระหว่างที่เด็กเกิดปฏิสัมพันธ์กับสื่อของเล่นต่างๆ เป็นสิ่งที่ครูและผู้ปกครองคำนึงถึงว่าจะขาดเสียเลยมิได้ การสร้างบรรยากาศในการเล่น เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สามารถจัดกระทำได้ ดังนี้
  1. สร้างความรู้สึกปลอดภัยทางจิต บรรยากาศแห่งความไว้วางใจและการสนับสนุนซึ่งกันและกันทำให้เด็กมีอิสระในการคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่
  2. เปิดโอกาสให้เด็กเล่นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีบุคคลอื่น หรือสิ่งอื่นใดมารบกวนการเล่น
  3. เปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจ ค้นคว้า และสร้างสรรค์งานจากสื่อของเล่นด้วยตัวเอง
  4. ให้ความสนใจ และส่งเสริมให้เด็กใช้จินตนาการของตนอย่างเต็มที่ โดยพยายามขจัดอุปสรรค หรือข้อจำกัดต่างๆ ที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ของเด็กให้น้อยลง
  5. สร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการยอมรับอีกทั้งกระตุ้นให้แสดงความคิดอย่างอิสระด้วยสถานการการเรียนแบบร่วมมือกันโดยไม่มีการแข่งขัน
  6. จัดห้องเรียนแบบยืดหยุ่น ให้มีพื้นที่กว้างๆ เพื่อสามารถทำกิจกรรมบนพื้น ละสามารถดัดแปลงให้ทำงานเป็นกลุ่ม จับคู่ หรือทำงานเดี่ยว อย่างคล่องตัว
  7. ให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของความคิดเห็น และคำถามของเด็ก อีกทั้งพยายามตอบคำถามอย่างจริงจังเพื่อแสดงให้เห็นว่าความคิดเห็นและคำถามนั้นมีคุณค่า
บรรยากาศการเล่นเป็นปัจจัยเอื้อให้เด็กได้นำเสนอ และดึงความคิดสร้างสรรค์ที่แฝงเร้นภายในตัวเองออกมา เมื่อการเล่นไม่ใช่อุปสรรค์ที่ขวางกั้น การเกิดและปรับขยายให้กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ โอกาสที่พัฒนาความคิดจะงอกงามก็จะเป็นไปได้

ผู้ปกครองและนักการศึกษาควรเปิดโอกาสให้เด็กได้แสวงหาจินตนาการ กระตุ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพที่แท้จริงด้วยสื่อของเล่น การสร้างสภาวะไร้ขอบเขตจะช่วยให้เด็กไม่ติดตันทางความคิด ผลผลิตแห่งการคิดอย่างอิสระก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่และเหมาะสมต่อการพัฒนาตนเองและสังคม เด็กปฐมวัยสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทรัพยากรบุคคลของชาติให้เป็นบุคคลที่สร้างสรรค์ การส่งเสริมความงอกงามของความคิดสร้างสรรค์จึงต้องกระตุ้นและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นทักษะตั้งแต่ขวบปีแรก


ที่มาข้อมูล : วีณา ประชากูล วารสารวิชาการ ปีที่ 9 ฉบับที่ 4 ตุลาคม - ธันวาคม 2549