วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สื่อการสอนวิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย

สื่อการสอนวิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย
             ในชั้นปฐมวัยไม่ได้สอนเป็นรายวิชา เป็นการเตรียมความพร้อมโดยนำเอาวิชาต่าง ๆ มาบูรณาการเป็นหน่วย และสอดแทรกวิธีสอนแบบเรียนปนเล่นด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้นสื่อการสอนหากจัดโดยยึดตามรายวิชาแล้ว สื่อการสอนวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อที่พบหาได้จากธรรมชาติ หรือครูสามารถประดิษฐ์ขึ้นมาได้เอง ตัวอย่างเช่น
             1. ของจริง
ของจริง ได้แก่ วัตถุ (คน พืช สัตว์ สิ่งของ สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ) สถานการณ์จริง
ปรากฏการณ์ จริง เป็นสื่อการสอนที่ใช้มากที่สุดในระดับปฐมวัย เนื่องจากเป็นสื่อที่เด็กได้รับประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรม และเป็นประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากการสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้านของตนเอง ในสภาพการณ์จริง สื่อชนิดนี้เด็กจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด เพราะเด็กต้องการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อม ต้องการที่จะสัมผัสแตะต้อง ได้เห็น ได้ยิน ได้ชิม หรือได้ดมด้วยตนเอง
ตัวอย่าง สื่อของจริง เช่น ดอกไม้จริง ดินชนิดต่าง ๆ ก้อนหิน ต้นไม้ ฯลฯ
             2. ของจำลอง และสถานการณ์จำลอง
เป็นสื่อที่ใกล้เคียงของจริงหรือสถานการณ์จริงมากที่สุด ในบางครั้งประสบการณ์ตรง
นั้น ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ หรืออาจเป็นอันตราย หรือของจริงอาจมีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป มีความซับซ้อน อยู่ไกลเกินกว่าที่จะนำมาศึกษาได้ จึงต้องจำลองหรือเลียนแบบให้มีลักษณะที่ใกล้เคียงหรือเหมือนจริงที่สุด เพื่อความสะดวก ปลอดภัย และเข้าใจได้ง่าย
ตัวอย่าง สื่อของจำลอง เช่น ผลไม้จำลอง หุ่นจำลองต่าง ๆ
             3. ภาพ บัตรภาพ ภาพชุด และแผนภูมิ
ภาพ บัตรภาพ หรือภาพชุด แผนภูมิที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ นำมาใช้
ประกอบ การสอนของครูในการให้แนวคิดต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อครูสอนแนวคิดอะไรก็นำภาพ บัตรภาพ ภาพชุด หรือแผนภูมินั้นให้เด็กดู เด็กจะเกิดความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ได้
ตัวอย่าง สื่อภาพ บัตรภาพ ภาพชุด และแผนภูมิ เช่น ภาพรุ้งกินน้ำ บัตรภาพแมลง
ภาพชุดดอกไม้ แผนภูมิส่วนประกอบของต้นไม้ ฯลฯ

             4. หนังสือภาพ และหนังสือส่งเสริมการอ่าน
หนังสือภาพและหนังสือส่งเสริมการอ่านที่มีเรื่องและภาพ เป็นสื่อสำหรับให้เด็ก
เรียนรู้ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่จัดหาได้ง่าย การใช้หนังสือภาพอาจทำได้ดังนี้
- จัดมุมหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยสามารถหยิบและเปิดขึ้นดูเอง ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เห็นในภาพ และโยงกับสิ่งที่ตนเห็นในชีวิตประจำวัน หนังสือภาพที่จะให้ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ หนังสือภาพสัตว์เลี้ยง แม้เด็กปฐมวัยส่วนมากจะยังอ่านหนังสือไม่ได้ แต่ดการดูภาพก็จะช่วยให้ความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์แก่เด็กได้เป็น อย่างดี
- ใช้ประกอบการสอนของครู เป็นการใช้หนังสือภาพประกอบการเล่าเรื่องนิทาน หรือการใช้แนวคิดทางธรรมชาติวิทยาแก่เด็กปฐมวัย หนังสือภาพที่ใช้อาจเป็นชุดเดียวที่จัดไว้ในมุมหนังสือ ครูจะช่วยอ่านบทสนทนาของตัวละครหรือคำบรรยายให้นักเรียนฟังเป็นการเพิ่ม ประสบการณ์แก่เด็กอีกทางหนึ่งด้วย
- ใช้ประกอบการแสดงออกของเด็กปฐมวัย ในกรณีที่เป็นเด็กปฐมวัยอายุ 4-5 ขวบ ครูอาจให้นักเรียนเล่าเรื่องจากหนังสือภาพให้เพื่อนนักเรียนฟังเป็นการ กระตุ้นความสามารถในการแสดงออก และฝึกให้เด็กรู้จักสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวเพื่อที่จะนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง ประกอบหนังสือภาพอีกด้วย
ตัวอย่างสื่อหนังสือภาพ และหนังสือส่งเสริมการอ่าน เช่น หนังสือภาพสัตว์เลี้ยง หนังสือนิทาน ฯลฯ
             5. โสตทัศนุปกรณ์
อุปกรณ์เหล่านี้ใช้ได้เฉพาะโรงเรียน ที่มีความพร้อมในด้านงบประมาณที่จะสามารถจัดหาเครื่องฉาย เครื่องเสียง วีดิทัศน์ ฯลฯ ได้ สำหรับโรงเรียนที่ยังไม่มีความพร้อมด้านนี้ ก็อาจใช้สื่ออื่นทดแทนได้ อุปกรณ์เหล่านี้จะให้ประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์แก่เด็กปฐมวัยในลักษณะต่าง ๆ อาทิ
- เครื่องเสียง ช่วยให้นักเรียนได้ยินเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงลมพัด เสียงน้ำตก เสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เสียงคนและสัตว์ เป็นต้น
- เครื่องฉายสไลด์ช่วยให้นักเรียนเห็นภาพธรรมชาติต่าง ๆ ได้พร้อมกัน
- เครื่องฉายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ช่วยให้นักเรียนได้เห็นภาพการเคลื่อนไหว และได้ยินเสียงปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ
             6. การสาธิตและการทดลองง่าย ๆ
การสาธิต และการทดลอง เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กปฐมวัยได้รู้จักสังเกต และคิดอย่างมีเหตุผล รู้จักปฏิบัติงานอย่างมีขั้นตอน และแสวงหาความรู้และเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูสาธิตสิ่งที่ต้องการให้เด็กเห็นขั้นตอนการปฏิบัติ ให้เด็กได้สังเกต ซักถาม และสรุป พร้อมกับให้เด็กมีโอกาสทดลองสิ่งที่ครูสาธิตหรือเรื่องที่เป็นพื้นฐานทาง วิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง
ตัวอย่าง สื่อการสาธิตและการทดลองง่าย ๆ เช่น
- การเล่นบ่อทราย เด็กจะได้เรียนรู้จากการสัมผัสความนุ่มนวล ความสาก ฯลฯ ของทราย เรียนรู้ว่า เมื่อเป่าทรายจะกระจาย เมื่อเอาน้ำเทลงไปทรายจะจับตัวเป็นก้อน เรียนรู้ส่วนผสมของทราย รวมทั้งสังเกตชีวิตสัตว์เล็ก ๆ ที่อาจมองเห็นในทราย
- การเล่นน้ำ เด็กจะเรียนรู้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างจากการเล่นน้ำ ดังนั้นจึงต้องจัดอ่างน้ำและภาชนะให้เด็กได้มีโอกาสเล่นตัก ตวง เอามือแกว่งไกว วิดน้ำ หรือสังเกตสิ่งที่อยู่ในน้ำ เป็นต้น
- กรงแมลง การดักจับแมลงเป็นสิ่งที่เด็กชอบมาก ครูอาจสอนวิธีจับแมลงโดยการจับมาเพื่อการศึกษา สังเกต มิใช่การทำลายชีวิต แมลงที่เด็ก ๆ สนใจ เช่น แมลงเต่าทอง ผีเสื้อ ตั๊กแตน การจับควรจับด้วยสวิงดักแมลง เมื่อดักได้ให้ค่อย ๆ เก็บใส่กรงสำหรับแมลง ซึ่งหมายถึงบ้าน
ชั่วคราวของแมลง เมื่อสังเกตและศึกษาในระยะเวลาหนึ่งแล้วให้ปล่อยแมลงเหล่านั้นไป
กรง แมลงอาจทำจากกระป๋องพลาสติกที่ตัดหัวท้ายให้ยาวขนาด 2 นิ้ว แล้วหุ้มท้ายด้วยผ้าโปร่งบางมัดด้วยเชือกพลาสติก ส่วนด้านบนให้มีผ้าที่ปิดเปิดได้ อาจใส่ใบไม้หรือพืชต้นเล็ก ๆ ไว้ในขวด เพื่อให้แมลงรู้สึกว่าเหมือนอยู่ในธรรมชาติ
มดเป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่ เด็ก ๆ สนใจอยากรู้ ลองนำขวดปากกว้างมาตักทรายหรือดินที่มีรังมดอยู่ใส่ลงไปแล้วหุ้มรอบ ๆ ขวดด้วยผ้าหรือกระดาษสีดำ ใส่น้ำหวาน หรือเศษอาหารลงไปในขวด ปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 วัน ถอดผ้าที่หุ้มออก จะเห็นมดในขวดกำลังสร้างอาณาจักรอยู่ภายในนั้น เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของมด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับเด็ก
- กรงสัตว์ กรงสัตว์สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยใช้ลังหรือกล่องบรรจุผลไม้นำมาหุ้มด้านบนด้วยลวด ส่วนด้านล่างรองด้วยถาดสังกะสี ลังนี้ทำเป็นบ้านกระต่ายหรือสัตว์เล็ก ๆ อื่น เช่น กระแต กระรอก หนู ลูกไก่ ฯลฯ อาจใส่ทรายชื้น ๆ และต้นไม้นุ่ม ๆ สำหรับเป็นกรงเลี้ยงกบหรือคางคกหรือกิ้งก่า ถ้าเป็นสัตว์บางอย่าง เช่น เต่า อาจจะต้องใส่ก้อนหินและน้ำ กรงสัตว์นี้เป็นบ้านชั่วคราวของสัตว์เพื่อให้เด็กได้สังเกต มิใช่เป็นกรงสำหรับขังสัตว์ เมื่อศึกษาแล้วให้ปล่อยสัตว์ไปอยู่ตามธรรมชาติต่อไป
- ตาชั่ง สำหรับเด็ก ๆ แล้วตาชั่วที่ใช้เป็นเพียงตาชั่งสำหรับวัดความสมดุล คือ ตาชั่งสองแขน ซึ่งทำได้ง่าย ๆ โดยใช้แกนไม้ตั้งบนฐานแท่นไม้ ใช้ที่แขวนเสื้อชนิดทำด้วยไม้แขวนติดกับหมุดเล็ก ๆ ที่ปลายของไม้แขวนเสื้อห้อยด้วยกล่องนม เด็กจะใช้ชั่วของเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อดูความสมดุลหรือดูว่าอะไรหนักกว่าอะไร
- กระถางต้นไม้ เด็ก ๆ ชอบสะสมเมล็ดชนิดต่าง ๆ นอกจากการเก็บเมล็ดผลไม้ใส่กล่องไว้ให้เด็กได้สังเกตเรื่องของขนาด รูปร่าง และสีแล้ว เมล็ดเหล่านี้อาจจะนำมาทดลองเพาะ การเพาะลงในกระถางจะทำให้เด็กได้มีโอกาสสังเกตการเจริญของเมล็ดได้อย่างใกล้ ชิด กระถางพืชนี้อาจจะเป็นกระถางดินหรือดัดแปลงมาจากวัสดุเหลือใช้ เช่น กระป๋องต่าง ๆ แก้ว เหยือก ภาชนะพลาสติกต่าง ๆ ถ้าเป็นที่เพาะเมล็ดพืชขนาดใหญ่อาจใช้ลังไม้รองด้วยอลูมิเนียม เพื่อเวลารดน้ำจะได้ไม่เปียกออกมาด้านนอก
- กรงนก นอกจากจะมีการนำแมลงหรือสัตว์เล็ก ๆ ชนิดต่าง ๆ มาให้เด็กได้ศึกษาในห้องเรียนแล้ว ครูสามารถที่จะนำนักเรียนออกไปศึกษาสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เช่น ชีวิตนก ฉะนั้น อาจมีการทำกรงนกหรือบ้านนกชนิดต่าง ๆ ไว้ในบริเวณรอบนอกอาคาร ตามต้นไม้หรือชายคา บ้านนกอาจจะทำด้วยไม้ ทำด้วยกาบมะพร้าวทั้งลูกมัดด้วยลวดหรือรังนกกระจาบ มีอาหารนกไว้ให้สำหรับเด็กได้ใช้เลี้ยงนก
- กล่องวิทยาศาสตร์ ควรสะสมกล่องเปล่าสำหรับใส่ชุดวิทยาศาสตร์ อาจจะเป็นกล่องขนมปังที่เป็นโลหะหรือกล่องพลาสติก แต่ละกล่องจะบรรจุวัสดุสำหรับการทดลองแต่ละอย่าง เช่น กล่องที่จะทดลองเรื่องลอย-จม ในกล่องจะมีวัสดุสำหรับการทดลองในเรื่องดังกล่าว เช่น ลูกโป่ง ลูกแก้ว เศษไม้ ฟองน้ำ เม็ดโฟม หน้ากล่องเขียนชื่อติดไว้ เวลานำมาใช้จะได้สะดวกในการค้นหา นอกจากนี้ กล่องที่บรรจุวัสดุอุปกรณ์สำหรับสอนความคิดรวบยอดแต่ละเรื่องแล้ว อาจจะเป็นกล่องที่บรรจุเครื่องมือที่ใช้บ่อย ๆ เช่น แว่นขยาย แม่เหล็ก กระจกเงา ลวด เปลือกหอย เข็มทิศ นาฬิกา ฯลฯ
- การปรุงอาหาร กิจกรรมการปรุงอาหาร เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์กายภาพ เพราะเด็กจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสสารได้ง่าย เช่น การละลาย การทำให้อ่อนตัว การเปลี่ยนรูปทรงและสีอาหาร ไม่จำเป็นจะต้องปรุงให้สุกเพียงการผสมเครื่องปรุงก็เป็นประสบการณ์การเรียน รู้อย่างหนึ่ง

             7. นิทาน
การเล่านิทานเป็นการเล่าเรื่องต่าง ๆ โดยการใช้หนังสือภาพ หนังสือนิทาน หุ่นต่าง ๆ
หรือ แสดงท่าทางประกอบการเล่าเรื่อง โดยครูเลือกนิทานที่เหมาะสมกับวัย ความสนใจ และความต้องการของเด็ก เล่าให้เด็กฟังโดยอ่านจากหนังสือ หรือใช้อุปกรณ์ประกอบ พร้อมกับให้เด็กได้สนทนา อภิปราย และแสดงความคิดเห็นจากนิทาน
ตัวอย่าง สื่อนิทาน เช่น นิทานเรื่อง “ประโยชน์ของผัก”
“มีเด็กนักเรียนห้องหนึ่งกินผักกันทั้งห้อง ทุกคนแข็งแรงมาก และก็มีเด็กนักเรียนอีก
ห้อง หนึ่งไม่กินผักเลย ทุกคนอ่อนแอมาก วันหนึ่งนักเรียนต้องแข่งขันเดินเร็วกัน นักเรียนห้องที่กินผักเดินชนะ เพราะแข็งแรง เดินไม่เหนื่อย ส่วนนักเรียนห้องที่ไม่กินผักเดินไปได้หน่อยก็เป็นลมล้มลงจึงแพ้”

             8. เพลง
การร้องเพลง เป็นการจัดให้เด็กได้แสดงออกเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และ
เรียน รู้เกี่ยวกับภาษาและจังหวะ โดยให้เด็กฟังและร้องเพลงไปพร้อม ๆ กับครู เพลงที่นำมาให้เด็กร้อง ควรเลือกเนื้อเพลงง่าย ๆ และสั้น และควรให้เด็กได้เคลื่อนไหวท่าทางประกอบการร้องเพลง เปิดโอกาสให้เด็กแสดงท่าทางประกอบอย่างอิสระตามจินตนาการ
ตัวอย่าง สื่อเพลง เช่น เพลงรุ้งกินน้ำ
“รุ้งเลื่อมลายงามงดงาม สีม่วงครามอีกงามน้ำเงิน
เขียวเหลืองเพลินดูน่าชม ช่างงามสมสีส้มแดง”
             9. เกม
การเล่นเกม เป็นการให้เด็กได้รับความเพลิดเพลิน สนุกสนาน เด็กได้เคลื่อนไหว
ร่าง กายส่วนต่าง ๆ เล่นและอยู่ร่วมกับเด็กอื่นได้ โดยเล่นเกมที่มีกติกาง่าย ๆ หรือเกมการละเล่นพื้นเมืองที่เหมาะกับวัย ก่อนเล่นครูต้องอธิบายกติกาและสาธิตให้เข้าใจ
ตัวอย่าง สื่อเกม เช่น เกมแมวจับหนู
วิธีเล่น - ให้เด็กนั่งเป็นวงกลม จับมือกัน
- ให้เด็กออกมา 2 คน คนหนึ่งสมมติเป็นแมว อีกคนหนึ่งสมมติเป็นหนู
- สมมติให้คนที่นั่งเป็นถ้วยที่เก็บน้ำมันหมู
- ให้เด็กคนที่เป็นแมวไปหาน้ำมันหมู
- ให้เด็กคนที่เป็นหนูไปกินน้ำมันหมู
- เด็กคนที่เป็นแมวถามเด็กคนที่นั่งเป็นวงกลมว่าน้ำมันหมูหายไปไหน
- เด็กคนที่นั่งทั้งหมดตอบว่าหนูกินหมด
- เด็กคนที่เป็นแมวถามว่า หนูหายไปไหน
- เด็กคนที่นั่งทั้งหมดชี้ไปที่ตัวหนู
- เด็กคนที่เป็นแมววิ่งไล่ตามหนู ถ้าวิ่งจับหนูได้ถือว่าจบเกม และผลัด
เปลี่ยนคนใหม่ต่อไป

             10. คำคล้องจอง
การท่องคำคล้องจอง เป็นการส่งเสริมการใช้ภาษาในการฟัง พูด เด็กได้รับคาม
เพลิด เพลิน สนุกสนาน โดยให้เด็กฟังและท่องคำคล้องจองไปพร้อม ๆ กับครู คำคล้องจองที่นำมาให้เด็กท่องจำควรเลือกคำคล้องจองที่ง่าย ๆ และสั้น ควรให้เด็กได้เคลื่อนไหวท่าทางประกอบการท่องคำคล้องจอง เปิดโอกาสให้เด็กแสดงท่าทางประกอบอย่างอิสระตามจินตนาการ
ตัวอย่าง สื่อคำคล้องจอง เช่น คำคล้องจอง “ประโยชน์ของดิน หิน ทราย”
“ดิน หิน ทราย ใช้ในการก่อสร้าง เป็นห้างร้านบ้านเรือนที่อาศัย
ทำถนนโรงเรียนวัดทั่วไทย ทำของใช้ปลูกต้นไม้ได้ดีเอย”
             นอกจากวัสดุดังกล่าวข้างต้น ยังมีวัสดุอื่น ๆ ที่สามารถจัดหาเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากนี้ได้ แล้วแต่ความสามารถของโรงเรียน เช่น กล้องจุลทรรศน์ หนังสือสารานุกรมวิทยาศาสตร์ ลูกโลกและตัวอย่างหินแร่ต่าง ๆ และครูวิทยาศาสตร์ควรสำรวจและบันทึกรายการเหล่านี้ไว้ด้วย คือ แหล่งทรัพยากรในท้องถิ่น ทั้งทรัพยากรบุคคลและสถานที่ที่จะนำมาให้เด็กได้เรียนรู้ ทรัพยากรบุคคล อาทิเช่น เจ้าหน้าที่เกษตร, อนามัย, บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่วนอุทยาน เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ เจ้าหน้าที่จากสมาคมสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์ นักกีฏวิทยา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เกษตรกร เจ้าของฟาร์มสัตว์ต่าง ๆ ส่วนสถานที่ที่น่าสนใจ อาทิเช่น สวนสัตว์ วนอุทยาน พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ นอกจากนี้อาจจะมีการร่วมมือกับโรงเรียนมัธยม หรืออุดมศึกษาในท้องถิ่น ที่จะขอนักเรียนระดับโตมาควบคุมและทำงานด้านวิทยาศาสตร์กับเด็กทั้งในและนอก ห้องเรียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น